แน่น 'วัดอัมพวัน' ร่วมอาลัยหลวงพ่อจรัญ พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบ

ผู้ศรัทธาเนืองแน่นศาลาสุธรรมภาวนา วัดอัมพวัน ร่วมอาลัยหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ สิริอายุ 87 ปี วันที่ 25 ม.ค...

ผู้ศรัทธาเนืองแน่นศาลาสุธรรมภาวนา วัดอัมพวัน ร่วมอาลัยหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ สิริอายุ 87 ปี


วันที่ 25 ม.ค. เมื่อเวลาประมาณ 14.10 น. ที่ศาลาปฏิบัติธรรมสุธรรมภาวนา วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ขบวนรถนำสรีระสังขารพระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม มาถึงที่วัด ท่ามกลางญาติโยมจำนวนมาก ที่มาคอยตั้งแถวรับสังขารหลวงพ่อ จากปากทางเข้าวัดถนนสายเอเชียถึงวัดเป็นระยะทางถึง 1 กิโลเมตร ต่อด้วยพระสงฆ์ตั้งแถวรับจนถึงศาลา ซึ่งก็ค่อนข้างสับสนทั้งผู้ศรัทธาและช่างภาพที่จะเข้ามาถ่ายภาพให้ใกล้ จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้จัดระเบียบเพื่อความสวยงามจึงได้เริ่มพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

โดย นายอัครเดช เจิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และ พระเทพปริยัติสุธี เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี เจ้าอาวาสวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งในวันนี้จะได้ให้ญาติโยมได้กราบร่างหลวงพ่อ และจากนี้จะอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นเวลา 7 วัน สำหรับการกำหนดระยะเวลาสวดพระอภิธรรมนั้น ทางคณะสงฆ์จะประชุมร่วมกับทางจังหวัดสิงห์บุรี ในเย็นวันนี้ เพื่อออกเป็นกำหนดการที่แน่นอนอีกครั้ง และจะแจ้งให้ผู้ศรัทธาในตัวหลวงพ่อได้ทราบต่อไป
สำหรับประวัติพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี-ที่ปรึกษาเจ้าคณะ ภาค 3 อดีตเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ชื่อเดิม จรัญ จรรยารักษ์ เกิดวันพุธ แรม 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ปีมะโรง เวลา 07.10 น. ณ ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี บิดาชื่อ แพ จรรยารักษ์ อุปสมบท วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2491 เวลา 14.00 น. ณ วัดพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี พระครูพรหมจริยคุณ วัดแจ้งพรหมนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดกิมเฮง วัดพุทธาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการช่อ วัดพรหมบุรี เป็นอนุศาสนาจารย์

วิทยฐานะ พ.ศ. 2487 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสุวิทดารามาศ จังหวัดสิงห์บุรี

พ.ศ. 2492 สอบไล่ได้นักธรรมโท ณ สำนักเรียนวัดแจ้งพรหมนคร อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี สามัญศึกษา

พ.ศ. 2493 ศึกษาปฏิบัติกรรมฐาน กับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทธสโร) วัดหนองโพธิ์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

พ.ศ. 2494 ศึกษาปฏิบัติธรรมฐาน กับหลวงพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ และท่านเจ้าคุณอริยคุณาธร (เส็ง ปุสโส) วัดเขาสวนกวาง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น


พ.ศ. 2495 ศึกษาทำเครื่องรางของขลัง น้ำมันมนต์ กับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระครูวินิจสุตคุณ (หลวงพ่อสนั่น) วัดเสาธงทอง จังหวัดอ่างทอง และหลวงพ่อจาด วัดบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

พ.ศ. 2496 ศึกษาปฏิบัติกรรมฐาน กับท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชย์พระราชสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2498 ศึกษาพระอภิธรรม กับอาจารย์เตชิน (ชาวพม่า) ณ วัดระฆัง กรุงเทพฯ - ศึกษาการพยากรณ์ จากสมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ กรุงเทพฯ - ศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับ พ.อ.ชม สุคันธรัต - เดินธุดงค์รอนแรมหาที่สงบ เพื่อจำศีลภาวนาตามป่าเขตลำเนาไพรทางภาคเหนือ (เป็นต้น)

พ.ศ. 2500 รักษาการเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี

พ.ศ. 2501 ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูปลัดจรัญ ฐิตธมฺโม ในฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณสุนทรธรรมประพุทธ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2501

พ.ศ. 2511 ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2511

พ.ศ. 2516 เลื่อนเป็นพระครู เทียบผู้ช่วยพระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน พ.ศ.2517 รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี พ.ศ.2518 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี พ.ศ.2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. 2525 ได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก

พ.ศ. 2531 ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระภาวนาวิสุทธิคุณ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2531
พ.ศ. 2535 ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระราชสุทธิญาณมงคล เมื่อวันพุธที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2535

พ.ศ.2541 ได้รับแต่งตั้งเป็น รองเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2541

พ.ศ.2542 ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2542

พ.ศ.2545 ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระเทพสิงหบุราจารย์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2544


ได้ประพันธ์หนังสือธรรมะไว้เป็นจำนวนมากเช่น 1. แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา 2. พัฒนามารยาท คำกลอนสอนจิต และมารยาทในสังคม 3. หลักการฝึกสมาชิกเพื่อการศึกษา 4. กรรม 5. คำแนะนำเกี่ยวกับอาจาระ ของพระภิกษุสามเณร 6. บทสวดมนต์ 7. อานิสงส์ของการสวดพระพุทธคุณ 8. กรรม กับอดีตแห่งกาลมรณะ 9. พระธรรมเทศนา 10.ระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมนับตั้งแต่ท่านได้มารักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน เมื่อ พ.ศ. 2500 จนกระทั่งได้รับ พระราชทานสมณศักดิ์ และมีสิทธิ์เข้าครองตำแหน่งเจ้าอาวาส โดยสมบูรณ์เมื่อ 5 ธ.ค. 2511 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 11 ปี แต่ท่านมิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อบริหารงานวัดนี้และช่วยเหลือวัดอื่นๆ ให้เจริญก้าวหน้า มีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้เหมาะสมตามกาลสมัย

ท่านเข้าถึงจิตใจคน เป็นนักแสดง (เทศน์) ซาบซึ้งตรึงใจแก่ผู้ได้ฟังธรรม เป็นนักเสี่ยงในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ในเมื่อไม่มีทุนอยู่ในกำมือ เป็นนักเสียสละทรัพย์สินที่มีอยู่อุทิศเพื่อการกุศล และแจกเป็นทานให้ลูกศิษย์วัด ปัจจัยนอกจากนั้น ท่านเป็นนักแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยนิมนต์ภิกษุชาวต่างประเทศมาแสดงธรรมที่วัด แล้วนำจตุปัจจัยที่ได้ชดใช้หนี้โรงไม้ ร้านก่อสร้างต่างๆ บางครั้งแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องไปยืมเงินจากโยมมารดา หรือไม่ก็ญาติพี่น้องเป็นต้น ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระนักพัฒนา พระนักเทศน์และวิปัสสนาจารย์พร้อมกันเสร็จดังนี้ ท่านจึงมีผลงานในทุกๆ ปี มากมายจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป อาทิ

พ.ศ. 2526 ได้รับโล่เกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นในสาขาสังคมสงเคราะห์อาสาสมัครฝ่ายกิจการพระศาสนา

พ.ศ. 2528 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพฯ วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ในฐานะผู้ได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้านส่งเสริมชักชวนให้มาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
พ.ศ. 2529 ได้รับมอบเข็มเกียรติคุณนักพัฒนาดีเด่นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองจาก ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2529 จึงนับได้ว่า ท่านได้ทุ่มเทชีวิตในการพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรือง และเป็นที่พึ่งอันสำคัญแก่พุทธศาสนิกชนให้เขตท้องถิ่นทั้งใกล้และไกลมาเป็นเวลานาน
อ่านต่อที่http://www.thairath.co.th/content/567885

You Might Also Like

0 comments

Online